วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย
Thai Environmental Situation

นันทิยา นันทบุรมย์
Policy and Planning Analyst, Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning.

gift.witch@gmail.com

บทคัดย่อ
     การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ ขยะ ของเสียอันตราย สารอันตราย เป็นต้น ซึ่งปัญหามลพิษเหล่านี้นับวันจะขยายตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

Abstract
     Economic growth and continuously national development, including expeditiously city expansion are important factors of the cause of pollution problems, such as water pollution, air pollution, garbage, hazardous waste and hazardous substances. These pollutions are nowadays enlarging along economic growth and city expansion. It naturally affects environmental change and faster environmental decline.

Keyword: Environmental , Situation , Pollution problems , water pollution , air pollution

1. บทนำ
     โดยทั่วไปแล้วทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติตลอดเวลา แต่กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบรูณ์ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายมาเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นฐานการประกอบอาชีพและการดำรงวิถีชีวิตที่สำคัญที่สุดของประชาชนในชนบท ในปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติได้เสื่อมโทรมลงมากจากการใช้ประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจแต่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขฟื้นฟูได้เท่าทันสถานการณ์ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ การบุกรุกพื้นที่ป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องการปล่อยสารมลพิษจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

2. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      2.1 ประชากร
      การเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้ความต้องการอาหาร น้ำ พลังงาน ที่อยู่อาศัย และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 63 ล้านคน จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยไปในอนาคตข้างหน้า ( 20 – 30 ปี ) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีการจัดทำขึ้นในทุกๆ 10 ปี เป็นข้อมูลฐานในการคาดประมาณประชากร ภายใต้สภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของข้อสมมติฐานด้านภาวะเจริญพันธ์ การตายและการย้ายถิ่นที่ให้มีความเหมาะสมเป็นไปได้มากที่สุดในอนาคต พบว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรประมาณ 70.6 ล้านคน ดังแผนภูมิ

รูปที่ 1 การประมาณการประชากร ปี พ.ศ.2543 – 2573

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจะทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองและชุมชนที่ขาดการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นอกจากจะทำให้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นแล้วยังคงมีการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ มลพิษทางอากาศหลายชนิดเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นภาวะโลกร้อนเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจและมีการอ้างถึงแทบทุกวงการของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อนมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ซึ่งประกอบด้วยไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โอโซน (O3) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) สารฮาโลคาร์บอน โดยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กว่าร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง การตัดไม้ทำลายป่า ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์จากการทำการเกษตรและการปศุสัตร์ รวมทั้ง สารฮาโลคาร์บอนจากกระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อุทกภัย ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
     2.2 ทรัพยากรป่าไม้
     ในอดีตประเทศไทยมีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบรูณ์ โดยในปี พ.ศ.2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าปกคลุมถึงร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศ เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้เป็นแหล่งต้นทุนทางธรรมชาติที่ใช้เป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ และจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งความต้องการที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจังและไม่เอื้อให้ท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเหลือเพียงร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ หรือ 104.7 ล้านไร่ ทั้งนี้ พบว่าในปี พ.ศ 2550 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากกว่า 55,000 ไร่ และมีการจับกุมดำเนินคดีถึง 9,336 คดี การลดลงและเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่สำคัญ คือ การขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การขาดแคลนแหล่งไม้ใช้สอยในประเทศ ชุมชนท้องถิ่นขาดแหล่งอาหาร ยา และรายได้ ความขัดแย้งในที่ดินทำกิน และภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น
     2.3 ความหลากหลายทางชีวภาพ
     ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและสังคมไทยมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรทางชีวภาพมายาวนาน ทั้งเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรง จากสาเหตุสำคัญ คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและการเผาป่า การขุดหรือถมแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ การเน่าเสียของแม่น้ำลำคลอง การบุกรุกทำลายป่าชายเลนให้เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้ง และป่าพรุเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ พืชสวน ป่าต้นน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำและเขื่อน ป่าชายหาดเป็นที่พักตากอากาศ ป่าเขาหินปูนเป็นเหมืองหิน และพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นเมือง การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเกินความจำเป็นทำให้เกิดการปนเปื้อนและสะสมของสารอันตรายในน้ำและดิน การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่เหมาะสม ไร้ขีดจำกัดและผิดกฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า การลักลอบตัดไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้กฤษณา ไม้พะยูง การดักจับและค้าสัตว์ป่าสงวนหายาก เช่น เสือโคร่ง หมี ลิ่น เต่า ม้าน้ำ เป็นต้น อย่างต่อเนื่องและรุนแรง เป็นผลให้ประชากรสัตว์ป่าสงวนลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ การนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเข้ามาในระบบนิเวศ และสภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดจากการไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ
     2.4 ทรัพยากรน้ำ
     ทรัพยากรน้ำเป็นปัยจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ทั้งยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ สาเหตุสำคัญของการขาดแคลนน้ำเป็นผลจากการบุกรุกทำลายป่าประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่ต้นน้ำประสบปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและมีพื้นที่ลดลงมาก เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและโคลนถล่ม ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในพื้นที่กลางน้ำซึ่งเป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง พื้นที่ท้ายน้ำมีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญและแหล่งน้ำหลักของประเทศเมื่อพิจารณาในภาพรวมโดยประเมินผลเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินร่วมกับดัชนีคุณภาพน้ำทั่วไปในช่วง 5 ปีย้อนหลังที่ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการครอบคลุมทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน พบว่า แหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากมีแนวโน้มลดลงตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพแม่น้ำสายหลักบางพื้นที่อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมหรือมีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมลง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากน้ำเสียชุมชนรองลงมาเป็นน้ำเสียอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมตามลำดับ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แม่น้ำลำตะคองตอนล่าง และทะเลสาบสงขลา เป็นต้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยและจำนวนวันที่ฝนตกมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ภัยแล้งมีแนวโน้มมีความรุนแรงสูงขึ้น พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งภัยแล้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตร ไฟป่าเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณฝนเฉลี่ย ความถี่และจำนวนวันที่ฝนตกลดลง แต่ฝนที่ตกในแต่ละครั้งมีปริมาณมากทำให้พื้นดินที่ขาดการยึดของรากไม้ที่เป็นผลมาจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ไม่สามารถอุ้มน้ำจำนวนมากไว้ได้ ทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าพายุหมุนต่างๆ ที่พัดผ่านประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้ง พิบัติภัยต่างๆ เช่น ดินถล่มและหินถล่ม ซึ่งปี พ.ศ. 2551 ได้เกิดดินถล่มขึ้น 7 ครั้ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง ภูเก็ต สุราษฎ์ธานี พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ หลุมยุบและแผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต
     2.5 ทรัพยากรและพื้นที่ชายฝั่งทะเล
     การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน หญ้าทะเล แนวปะการัง ตลอดจนการบุกรุกทำลายและการปรับเปลี่ยนสภาพชายฝั่งเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การถมทะเล การขุดลอกร่องน้ำ การสร้างท่าเทียบเรือ โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ถนน เขื่อนกั้นคลื่น โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และบ้านเรือนประชาชน การทำลายทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น การทรุดตัวของแผ่นดิน และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและลมมรสุมที่มีความรุนแรงขึ้น เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าในปัจจุบันทรัพยากรประมงอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากมีการจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพในการรองรับ กอปรกับป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อนุบาลตัวอ่อน และที่สถานหลบภัยของสัตว์น้ำถูกบุกรุกทำลายและหลายแห่งมีสภาพเสื่อมโทรม

3. ปัญหามลพิษที่สำคัญ
     การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ ขยะ ของเสียอันตราย สารอันตราย เป็นต้น ซึ่งปัญหามลพิษเหล่านี้นับวันจะขยายตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง สำหรับในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2551 พบว่า ปัญหามลพิษที่สำคัญ ได้แก่ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ และขยะมลพิษทางน้ำนับเป็นปัญหามลพิษที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลคุณภาพน้ำ ในปี พ.ศ. 2550 พบว่า คุณภาพน้ำจืดของประเทศไทยโดยรวมเสื่อมโทรมลงกว่าเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง 18 แหล่ง แต่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีขึ้น 7 แหล่ง ได้แก่ แม่น้ำลี้ จันทบุรี พุมดวง หลังสวน น่าน เจ้าพระยาตอนกลางและท่าจีนตอนล่าง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเกิดจากการระบายน้ำเสียจากชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ (ร้อยละ 70) จากภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 20) และจากภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 10) สำหรับคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งพบว่า โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกงยังคงมีสภาพเสื่อมโทรมเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากเป็นแหล่งรองรับมลพิษทางน้ำ สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเลชายฝั่งเสื่อมโทรมลง คือ การปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการจัดการมลพิษทางน้ำมีงบประมาณไม่เพียงพอในการสร้างและเดินระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้ง การบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับปัญหาขยะ พบว่า ในปี พ.ศ. 2550 โดยรวมขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทั้งนี้ มีขยะที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลประมาณ ร้อยละ 36 ของปริมาณขยะทั่วประเทศ และขยะที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องส่วนใหญ่เป็นขยะในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนขยะในเขตเทศบาลและเมืองพัทยา สามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องเพียง 4,810 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 13,600 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 35 ของขยะที่เกิดขึ้น ส่วนสถานที่กำจัดขยะที่ก่อสร้างอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในเขตเทศบาล สามารถเดินระบบได้แล้ว 96 แห่ง อย่างไรก็ตามสถานที่กำจัดขยะส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาต่างๆ เช่น การเดินระบบและการบำรุงรักษาไม่ถูกต้อง ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และขาดงบประมาณในการเดินระบบ สำหรับขยะนอกเขตเทศบาลได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง ร้อยละ 6 ของปริมาณขยะ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีรบบการเก็บรวบรวมและไม่มีสถานที่กำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ขยะจึงถูกเผากลางแจ้ง ขุดหลุมฝัง หรือทิ้งไว้บนพื้นที่ว่างต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น การเผาขยะกลางแจ้งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ การทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองโดยตรง หรือน้ำขยะที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ขยะที่ตกค้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แลแมลงพาหนะนำโรคก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนและเหตุรำคาญต่อประชาชนมลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน โดยพื้นที่ที่ประสบปัญหาได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สระบุรี เชียงใหม่ ลำปาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองขนาดใหญ่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วและบางแห่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากยานพาหนะ กิจกรรมการคมนาคมและขนส่ง การก่อสร้าง อุตสาหกรรมประเภทโม่บดหรือย่อยหิน ปูนซีเมนต์ และเหมืองหิน และการเผาในที่โล่ง นอกจากนี้ ยังพบว่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds : VOCs ) เช่น สารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons) แอลกอฮอล์ (alcohols) แอลดีไฮด์ (aldehydes) และอีเทอร์ (ethers) ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการขนส่งเป็นปัญหาทางอากาศที่สำคัญโดยเฉพาะในบริเวณแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

4. สรุป
     จากข้อมูลที่กล่าวมาจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และก็ต้องมีการปลดปล่อยมลพิษลงสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมากเช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานหลายส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และมีเครื่องมือการจัดการ คือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาบังคับใช้เพื่อให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ซึ่งตามหลักการแล้ว หากมีการดำเนินผลกระทบอย่างถูกต้อง ปัญหาผลกระทบทางลบอันอาจเกิดจากโครงการควรจะน้อยที่สุด หรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งการประเมินผลกระทบจะครอบคลุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกด้าน กล่าวคือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับโครงการยังประสบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ ทั้งนี้ สผ. ได้รายงานผลการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการที่จัดทำรายงาน EIA พบว่าโครงการที่ได้จัดการตรวจสอบ จำนวน 200 โครงการ มีเพียงร้อยละ 65.5 โครงการ ที่จัดส่งรายงานผลการติดตามมาตรการป้งกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในจำนวนที่ส่งรายงานดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 44 ที่มีผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หลาย ๆ ครั้งที่คนเราทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะความไม่รู้ถึงสาเหตุและผลกระทบ ขาดข้อมูลความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เราเข้าถึง และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ในขณะที่นักอนุรักษ์นึกถึงสิ่งแวดล้อมในรูปของระบบนิเวศของธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับนึกถึงวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยในการผลิตเป็นต้นทุนนักเศรษฐศาสตร์ จะนึกถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า ชาวนาจะนึกถึงฝน ภาคท่องเที่ยวนึกถึงเงิน การทำการเกษตรที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกร ฯลฯ สังคมยังขาดความเข้าใจถึง สิ่งแวดล้อมในลักษณะรวมที่เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อเกิดความเสียหายที่ใดที่หนึ่งก็จะมีผลกระทบแก่กันและ กันบางครั้งลืมไปว่า ความสนุกชั่วครู่ชั่วยามของตนเป็นสิ่งที่ทำลายความเป็นธรรมชาติและความงดงามของสถานที่ และกรณีคดีมาบตาพุด ที่จังหวัดระยองก็อยู่ในข่ายที่ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและมีผลกระทบทั้งต่อผู้อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะอยู่ในส่วนต่อไป

กิตติกรรมประกาศ
     บทความนี้สำเร็จได้ด้วยความกรุณาของท่านอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกท่าน ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ ผศ.ดร.วรานนท์ คงสง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงผู้ก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดจนบิดามารดาของข้าพเจ้า แหล่งความรู้ต่าง ๆ ผู้ให้การอนุเคราะห์ข้อมูล

เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย . สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ.
[2] สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. (2552). ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย.
[3] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ.
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. (2553). ที่มาปัญหาสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด,http://www.ieat.go.th/ieat/index.php option=com_content&view=article&id=154&Itemid=157&lang=th.

ประวัติผู้เขียน
นันทิยา นันทบุรมย์
ประวัติทางการศึกษา
โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์
วิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
การทำงานปัจจุบัน
Policy and Planning Analyst, Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning.